เรื่องเล่า..จากโรงเรียนเล็ก

ผอ.ครับ...ผมติดโควิด

การเตรียมความพร้อมตลอด ๒ สัปดาห์ดำเนินไปด้วยดี โดยเฉพาะห้องสมุดสะสางและจัดอย่างเรียบร้อย ครูหนึ่งดูแลภายในกับควบคุมช่างซ่อมแซมฝ้าเพดานและกระเปื้องปูพื้น ส่วนผมปรับภูมิทัศน์ด้านหน้าทางเข้าห้องสมุด

มุมคอมพิวเตอร์จัดวางใหม่ งานนี้ต้องสังคายนา ตั้งใจว่าจะให้เป็นครั้งสุดท้าย..ก่อนเกษียณ ผมเชิญช่างคอมพิวเตอร์กับครูดาว ครูผู้รับผิดชอบไอซีทีของโรงเรียนเข้ามาคุยที่ห้องพักครู

ผมบอกครูดาวว่า คอมพิวเตอร์เก่ามาก แต่ยังพอใช้ได้ เราจะต้องปรับปรุงเพื่อการเรียนการสอนอย่างไรบ้าง เพื่อให้ช่างมาประมาณการค่าใช้จ่าย

ครูดาวบอก ต้องไปดูหน้างาน แต่อยากให้ช่างเดินสายไฟและสายเน็ตใส่ท่อให้หมด ทำปลั๊กทุกเครื่องและติดคัทเอ๊าใหม่ ช่างบอกทำได้และขอไปดูห้องสมุด

จากนั้น..ทั้งสองคนก็กลับเข้ามารายงานว่า ทำได้ไม่ยาก จะลงมือทำอีก ๓ วันข้างหน้า หากเสร็จแล้วคงต้องเช็คเครื่องคอมใหม่ วันนี้ช่างจะประมาณการค่าใช้จ่าย ส่วนครูดาวผมให้ทำโครงการและเตรียมเอกสารจัดจ้าง

สัปดาห์ต่อมา..ทุกอย่างก็เรียบร้อย สายเน็ตและสายไฟ ที่เคยระเกะระกะหายไปจากสายตา ผมรู้สึกชื่นชมช่างคอมพิวเตอร์คนนี้ เป็นเด็กหนุ่มที่เปิดร้านเล็กๆในตลาด ดูเรียบร้อยแต่ฝีมือการทำงานไม่ธรรมดาเลย

ผมถามครูดาวว่า พึงพอใจในโครงการนี้แค่ไหน..ครูดาวบอกยังไม่เสร็จ ต้องเปลี่ยนโปรแกรมอีก ตอนนี้ช่างมีธุระต้องไปซื้ออุปกรณ์และทำงานที่กรุงเทพ ๒ – ๓ วัน

บ่ายวันอังคารช่างเข้ามาที่ห้องสมุดอีกครั้งเพื่อดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จ ผมไม่ทันเข้าไปดู เนื่องจากต้องดูแลการตัดหญ้าที่จ้างคนนอกเข้ามาและควบคุมการซ่อมและติดฝ้าเพดานโรงอาหาร ต้องการเร่งรัดงานให้เสร็จทันเปิดเทอม

ผมเห็นครูดาวพาช่างคอมพิวเตอร์ไปทดสอบคอมที่ห้อง ป.๖ อยู่ที่อาคารออมสิน ซึ่งมีคอมพิวเตอร์เก่าๆอยู่ ๓ – ๔ เครื่อง เข้าใจว่าคงจะซ่อมเพื่อให้ใช้งานได้

ช่างคอมพิวเตอร์กลับไปแล้ว ดูสีหน้าครูดาวสดใส คงสบายใจที่คอมพิวเตอร์ของโรงเรียนกลับมาใช้ได้ดีทั้งระบบ โดยใช้งบประมาณเงินอุดหนุนของโรงเรียน

ผมก็สบายใจที่เห็นงานที่อยากทำมานานแล้ว สำเร็จลงได้ ห้องสมุดทั้งมุมหนังสือและมุมคอมพิวเตอร์ ดูแปลกตา กว้างขวางโอ่โถง สมเป็นห้องสมุดกับเขาเสียที

ถ้าเสร็จงานที่โรงอาหาร ก็คงเหลืองานซ่อมแซมห้องน้ำห้องส้วมกับพ่นหมอกควัน ป้องกันลูกน้ำยุงลาย แล้วทุกอย่างจะเรียบร้อยลงตัว

เช้าวันพุธ..ผมเชิญครูดาวมาพบพูดคุยเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งการจัดจ้างช่างคอมพิวเตอร์ที่เข้ามาทำงาน ๒ – ๓ ครั้ง ต้องเบิกเงินให้ช่างเท่าไหร่ และจ่ายอย่างไร?

ไม่ทันที่ครูดาวจะสรุปโครงการและยอดเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมด เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น ผมรีบรับสายเพราะเห็นว่าเป็นเบอร์ของช่างคอมพิวเตอร์ คงจะโทรมาสอบถามเรื่องเช็คว่าจะออกให้เขาได้วันไหน? “สวัสดีครับ”

“สวัสดีครับ ผอ. ครับ.... ผมติดโควิด”

“อ้าว งานเข้าเลยกู” อันนี้ผมไม่ได้พูด ผมคิดในใจและรู้สึกตกใจมาก

“ครับ” คือคำพูดสุดท้ายของผม

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์



ผลงานบทความ..เรื่องเล่าเร้าพลัง..โรงเรียนขนาดเล็ก

www.gotoknow.org/blog/chayanto

facebook ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

เรื่องเล่า..จากโรงเรียนเล็ก

โรงเรียนบ้านหนองผือ ต.เลาขวัญ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี ๗๑๒๑๐

www.nongphueschool.com

ผอ.ในฝัน....

การทำให้ดู อยู่ให้เห็น..ทำไปด้วย ช่วยกันทำ และติดตาม ช่วยเหลือพัฒนางานของครู คอยอำนวยการ หรืออำนวยความสะดวก ให้ครูเกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน น่าจะดีกว่าการสั่งการแต่เพียงอย่างเดียว ..โดยไม่เคยเหลียวมองปัญหาใดๆ

ทุกวันนี้ มีโรงเรียนในฝัน ครูในฝัน และก็มี ผอ.ในฝัน อย่างหลังนี้ ผมอ่านพบบ่อย ทุกครั้งที่อ่าน ก็จะประเมินตนเองไปด้วย ว่ามีอย่างนั้นไหม ทำอย่างนั้นไหม ปฏิบัติตนอย่างที่เขากล่าวถึงหรือเปล่า สุดท้าย ก็แค่สอบผ่าน ไม่ถึงกับเป็น ผอ.ในฝันของครูหรือของใคร อย่างดีก็คงได้แค่ถูกใจคนที่บ้านก็เพียงพอ

การที่จะเป็นผอ.ในฝัน หรือเป็นผู้บริหารที่ดีได้ ต้องให้คนอื่นประเมิน โดนเฉพาะครูที่โรงเรียน หรือผู้ร่วมงานของเรา จะเป็นกระจกที่ดี ที่จะช่วยประเมินความประพฤติ ชี้แนะแนวทางการปฏิบัติราชการงานบริหาร ที่เหมาะสมได้ทั้งความถูกต้องและถูกใจ

พอถึงเวลานั้นจริงๆ การทำงานก็ลื่นไหลไปเรื่อยๆ และก็ไม่ปรารถนาที่จะให้ใครประเมิน หรือสรรเสริญเยินยอ อาจจะเป็นเพราะความแก่กล้าในประสบการณ์และการรู้จักตนเอง ประมาณตนเองได้ มีสติ และรู้ตัวว่าทำอะไร กับใคร และอย่างไร

หลักคิดพื้นฐานง่ายๆ ที่นำมาใช้ ก็คือ ถ้าเราไม่ชอบสิ่งใด ไม่อยากให้ใครทำไม่ดีกับเรา เราก็อย่าไปทำสิ่งที่ไม่ดีอย่างนั้น..กับคนอื่น..

ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา พบเห็นและสัมผัสผู้บริหารมาหลายคน บางคนที่พบเป็นผู้บริหารที่ใจแคบ เห็นแก่ตัว ไร้น้ำใจ ไม่เรียนรู้ ไม่สู้งาน..ภาพเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนอย่างนั้น ก็อย่านำไปใช้กับครู และหมั่นปรับบุคลิกและพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม..สถานภาพและบทบาทของผู้บริหาร บางแง่มุมก็คิดต่างกันไปตามขนาดของสถานศึกษา ซึ่งผมคิดว่า..โรงเรียนเล็กๆ บุคลากรมีน้อย ..ผู้บริหารก็ควรปรับบทบาทตนเองบ้าง ถอดหัวโขนออกเสียบ้าง เพื่อให้ทุกอย่างเดินไปได้อย่างเป็นธรรมชาติ บรรยากาศการทำงานแบบร่วมไม้ร่วมมือ ช่วยเหลือกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย มีระบบ เป็นระเบียบ แต่ไม่ต้องถึงกับเฉียบขาดจนเกินไป บรรยากาศการทำงานจึงจะดูสดใส

การทำให้ดู อยู่ให้เห็น..ทำไปด้วย ช่วยกันทำ และติดตาม ช่วยเหลือพัฒนางานของครู คอยอำนวยการ หรืออำนวยความสะดวก ให้ครูเกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน น่าจะดีกว่าการสั่งการแต่เพียงอย่างเดียว ..โดยไม่เคยเหลียวมองปัญหาใดๆ

ครับ..สรุปแล้ว ตัวตน ของคนที่เป็น ผอ.ก็คือ พัฒนาตน พัฒนาคน พัฒนางาน ประสานทุกฝ่าย และไม่เห็นแก่ตัว...แค่นี้ก็พอเพียง (มั้ง)

ลองอ่านและวิเคราะห์ข้อคิดข้อเขียน ที่ทรงคุณค่า ของท่านอาจารย์ ศิวกานท์ ปทุมสูติ นะครับ ท่านมีแนวคิด...ผอ.ในฝัน...ที่หลายคน(รวมถึงผมด้วย)ให้ความสนใจใฝ่หา อ่านจบแล้ว ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรครับ.......

"เคยถามครูหากว่าถ้าเลือกได้ ผอ.เช่นไรที่ใฝ่ฝัน ครูตอบความหมายคล้ายคล้ายกัน ผอ.คนนั้น…ต้องดั่งนี้ มีความรู้กว้างลึกการศึกษา ช่วยครูแก้ปัญหาได้เต็มที มิใช่สั่ง สั่ง สั่ง อยู่ทั้งปี เป็นไปรษณีย์ส่งต่อนโยบาย มาโรงเรียนอยู่ โรงเรียนเป็นแบบอย่าง มิใช่อ้างประชุมเช้าประชุมบ่าย มิใช่ตามป้อยอสอพลอนาย สร้างภาพฉาบฉายไปวันวัน เข้าใจครูรู้จักเด็กที่ดวงใจ รู้จักให้โอกาสไม่ปิดกั้น ให้ความรักจริงใจเท่าเทียมกัน มีคุณธรรมสำคัญไม่สั่นคลอน รู้จักใช้One Stop Teaching ลดภาระรุ่งริ่งการเรียนการสอน มิใช่ผลักภาระขยะตะกอน ให้ครูทำซ้ำซ้อนจนอ่อนล้า รักการอ่านการเขียนเพียรทำได้ มิใช่จิกครูใช้อย่างขี้ข้า มิใช่เพียงเดินไปและเดินมา รับเงินเดือนมากกว่าครูทุกคน ผอ.ต้องมิเป็นเช่น “สมภาร- กินไก่วัด” บริวารเสลือกสลน ต้องไม่คดไม่โกงดำรงตน เป็นต้นหนนาวาน่าเคารพ… วับวายอยู่ในฝันการศึกษา กลางหมอกฝ้าฝุ่นธุลีฟุ้งตลบ แม้ว่าแสนหายาก…หากได้พบ จะขอปรบมือให้มีไหมครู"

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

คติประจำใจ ขึ้นอย่าหลง.. ลงอย่าท้อ





โรงเรียนบ้านหนองผือ ขอขอบพระคุณ..คุณบุญชู ลิ่มอติบูลย์ ได้บริจาคเงินจำนวน ๑๕๐,๐๐๐ บาท สำหรับจัดจ้างครูพิเศษช่วยสอนชั้นอนุบาล อีกทั้งได้เยี่ยมชมและให้กำลังใจคณะครู ที่ร่วมกันพัฒนางานห้องสมุดโรงเรียน ( ๙ ตุลาคม ๒๕๖๔)






แรงบันดาลใจ..ในคำสอนของพ่อ

คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทย ที่ได้เรียนรู้แนวทางการจัดการชีวิตและงานจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ ความทรงจำของคนไทยที่ได้เกิดมาทันยุคสมัยของพระองค์ท่าน คือการได้พบจุดเปลี่ยนในการสร้างชีวิตและพัฒนางาน ด้วยการน้อมนำคำสอนที่ถือว่าเป็นสุดยอดมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน

ผมเชื่อว่า..ทุกคำสอนที่ถูกถ่ายทอดออกมา ล้วนมีพลังอันยิ่งใหญ่ จนไม่อาจมองข้ามได้เลย สิ่งที่ผมอยากจะบอกเล่า ด้วยความเชื่อว่า พระบรมราโชวาท พระราชปรารภ พระราชดำริและทัศนะของพระองค์ท่านในหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้น สามารถเปลี่ยนชีวิตคนเรา ไม่ว่าเราจะเป็นใครก็ตาม

สำหรับผม ผู้ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงเรียนเล็กๆขับเคลื่อนเข้าสู่ปีที่ ๑๖ มีประสบการณ์มากมาย หลังจากที่ได้รับ”แรงบันดาลใจ”เมื่อเห็นผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ได้นำ”คำสอนของพ่อ”ไปใช้เป็นประโยชน์ในชีวิตจริง ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป

ผมก็เป็นคนหนึ่ง ที่อยากเปลี่ยนชีวิต ผมจึงต้องเปลี่ยนความคิด เพื่อจะได้ไม่จ่อมจมอยู่กับความทุกข์ ความยากลำบากและความขาดแคลนในโรงเรียน ถึงแม้เราจะหนีไม่พ้น แต่ขอให้ทำงานได้อย่างมีความสุขก็พอ

จึงขอหยิบยกคำสอนของพ่อบางส่วน ที่คิดว่าเป็นแก่นของแรงบันดาลใจทั้งปวงของผม ขอนำมาขยายความให้ได้สาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

"การระเบิดจากข้างใน

คือความยั่งยืน..สิ่งที่อยู่ภายในใจคนเราล้วนคือพลังที่ยิ่งใหญ่ เมื่อใจมุ่งมั่นเดินหน้าสานฝันให้เป็นจริง ไม่ท้อที่จะหยุดลงได้อย่างง่ายๆ จึงยั่งยืนเสมอ เมื่อได้แรงบันดาลใจแบบนี้ ผมจึงคิดดีทำดีต่อไป เพื่อทำโรงเรียน “SMALL IS BEAUTIFUL” ไม่ลุ่มหลงแรงกระตุ้นจากภายนอก ที่เป็นพลังชั่วคราว ที่จะทำให้หลงทางและเสียเวลา ในการพัฒนาตนพัฒนางาน

“การเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

คือแนวทางการสร้างความเปลี่ยนแปลง เมื่อคนเรามีความเข้าใจทุกสิ่งว่า เรากำลังทำอะไรเพื่ออะไรอย่างชัดเจน คนเราจะสามารถเข้าถึงผู้คนได้ด้วยพื้นฐานเข้าใจต่อกัน และจะสามารถนำไปสู่การพัฒนาเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ดีกว่าเดิมได้ นี่คือ..วิสัยทัศน์ที่ผมใช้..ในการเป็นผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก

สามห่วง สร้างสมดุลให้ชีวิต”

คือความมีเหตุผล ความพอประมาณ ความมีภูมิคุ้มกัน ชีวิตที่ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป ย่อมเกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นได้ในทุกสิ่งที่ทำ ดังนั้นเมื่อสิ่งที่คนเราทำนั้น มีความสมเหตุสมผล มีความพอเหมาะพอดี และมีความรอบคอบระมัดระวังไม่ประมาท จนเกินตัว เกินกำลังก็ย่อมที่จะสร้างสมดุลชีวิตให้เป็นสุขได้เสมอ สำหรับผม..สามห่วงได้สร้างความพอดีให้ชีวิต..งดงามเสมอ

“คุณธรรม นำความรู้”

คือเงื่อนไขสู่ความสำเร็จทุกสิ่ง เมื่อความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เป็นจุดเริ่มต้นลงที่ใจคนได้แล้ว ก็ย่อมที่จะมีความพร้อมที่จะช่วยให้ความรู้ที่มี สามารถถูกนำไปใช้ ให้เกิดผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้ต่อผู้คนและสังคมอย่างบริสุทธิ์ใจ มากกว่าการมีผลประโยชน์แอบแฝงใส่ตน ผมจึงเชื่อเสมอว่า คุณธรรมนำชีวิตได้

การพัฒนาที่มั่นคง”

คือพึ่งตนเอง พึ่งพาซึ่งกันและกัน เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ชีวิตคนเรานั้นไม่มีทางลัด จึงจำเป็นต้องอาศัยการสั่งสมพัฒนาการให้เกิดความเข้มแข็ง อย่างมั่นคงไปตามลำดับและจังหวะชีวิต

จากการอยู่ให้รอด พึ่งตนได้ เติบโตไปแบบพึ่งพากันได้ และอยู่ในสถานะยืนหยัดอยู่ร่วมกันได้ จึง นับเป็นพันธกิจสำคัญของผม..ในโรงเรียนขนาดเล็ก...ที่พยายามจะทำให้สำเร็จ

“การทำหน้าที่ เพื่อหน้าที่”

คือไม่ใช่การทำไปตามหน้าที่เท่านั้น ชีวิตคนเรานั้น ล้วนมีบางสิ่งที่ต้องทำอย่างมีจุดยืน ชีวิตจึงมีคุณค่าและความหมาย การอยู่เพื่อหน้าที่คือการสร้างชีวิต แต่การอยู่เพื่อทำไปตามหน้าที่นั้น คือการใช้ชีวิตให้ผ่านไปวันๆอย่างไร้ความหมาย สำหรับผม...จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเสมอ

“ขาดทุน คือกำไร

ถือเป็นการให้อย่างไม่มีเงื่อนไข คือการเป็นผู้ให้และการแบ่งปันต่อผู้อื่น โดยไม่หวังรอผลตอบแทนกลับคืนมา แม้แต่คำชมเชย เมื่อคิดจะช่วยคนให้มีที่ยืนในสังคม ต้องไม่คิดเรื่องกำไรขาดทุนมานำหน้า เพราะกำไรที่แท้จริงนั้นคือการได้ทำความดี

“ ปิดทองหลังพระ”

พระพุทธรูปจะงามสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อมีคนปิดทองหลังพระ การทำทุกสิ่งเพียงแค่เอาหน้าก็เป็นได้แค่การปิดทองเฉพาะส่วนหน้าเท่านั้น ความสำเร็จที่แท้จริงนั้น ล้วนเกิดขึ้นมาจากคนที่อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น งานจึงสำเร็จบริบูรณ์ครบถ้วนทุกด้าน

คำสอนของพ่อ จึงเป็น"แรงบันดาลใจ" ที่สำคัญ ทำให้ผมมีแรงขับเคลื่อนงานบริหารการศึกษาในโรงเรียนเล็กๆ ทุกคำสอนเป็นขุมพลังทั้งในการจุดระเบิดแรกเริ่ม และยังคงเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงประคับประคองให้ผมทำงานจนสำเร็จลุล่วงไปได้ หลายเหตุการณ์ในชีวิตผู้บริหารอาจจะไม่ได้ตามที่หวัง ทำให้รู้สึกท้อถอยและอยากจะเลิกลา คำสอนของพ่อจะช่วยหนุนใจว่า ท้อได้แต่อย่าถอย หากจะถอยก็ขอให้ถอยเพื่อตั้งหลัก สู้ต่อไป....

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๔


ห้องสมุด............ปรับปรุงใหม่ ..ปีการศึกษา ๒๕๖๔


วันนี้ที่หนองผือ...เลาขวัญ

ลมหนาวโชยมาอย่างอ่อนละมุน ใจก็ยังต้องลุ้นให้ฝนฟ้าหยุดตกเสียที ยิ่งจะเพิ่มความเย็นเยียบเข้าไปจนสุดขั้วหัวใจ ทำไม..ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงแปรปรวนได้ถึงขนาดนี้..

คิดอยากจะให้เป็นวันว่าง เพราะเส้นทางผ่านตลาดเลาขวัญเพื่อเข้าโรงเรียน น้องน้ำครอบครองจับจองร้านค้าและส่วนราชการไว้หมดแล้ว ปิดทุกช่องทางเข้าออก บ้านเรือนหลายหลังเหมือนติดเกาะ เป็นปรากฎการณ์ที่สาหัสในรอบ ๒๐ ปี

โรงเรียน..จะเป็นอย่างไร ถ้าฟ้ายังมืดมัวหม่นขนาดนี้ อย่ากระนั้นเลย...เดินทางดีกว่า

สั่งการให้ลูกน้อง(ครูธุรการ)มารับที่บ้าน ทำตัวเป็นเจ้าคนนายคนครั้งแรก ให้ความรู้สึกที่แปลกๆ ที่ต้องมีพลขับประจำตำแหน่ง จากที่เคยขับรถเองมาตลอดชีวิตผู้บริหาร

ขับผ่านเลาขวัญไม่ได้ ก็ต้องวิ่งทางกกม่วง เขตตำบลบ้านโข้ง อ.อู่ทอง สุพรรณบุรี เหมือนหนีการจราจรติดขัด แต่พอเห็นข้างทาง ทั้งวัด บ้านและโรงเรียน บรรยากาศของน้ำที่ไหลหลากไม่แตกต่างจากเลาขวัญ ใจจึงเริ่มสั่นหวั่นไหว

ช่วงที่รถตกหลุมกลางถนนบนมวลน้ำก้อนใหญ่ที่เชี่ยวมาก ต้องบอกครูให้จับพวงมาลัยรถให้แน่นๆ ถ้ารถปัดซ้ายปัดขวา มันจะลื่นไหลลงท้องนาก่อนที่จะถึงโรงเรียน

เหมือนยกภูเขาออกจากอก เมื่อรถช่วยนำพาชีวิตให้ถึงโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย ถึงแม้อากาศที่โรงเรียนจะไม่สดใส แต่ใจก็ชื้นขึ้นมา เมื่อเห็นสภาพโรงเรียนยังเหมือนเดิม น้ำยังคงรอการระบาย ยังไม่มีอะไรเสียหายมากกว่านี้

แต่ถ้าฝนตกหนักต่อเนื่อง ก็คงไม่น่าเกิน ๒ วัน ถนนหน้าอาคารเรียนจะต้องปริ่มน้ำ นั่นหมายถึงหมู่บ้านหนองผือโดยรวม ต้องอ่วมอรทัยอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน

จะเที่ยงวันแล้ว..ฟ้ายังมืดครึ้ม แล้วไม่นาน ทั้งลมและฝนพัดกระหน่ำลงมาให้รู้สึกหวาดหวั่น มรสุมอะไรกันที่ทำให้เป็นเช่นนี้ หรือว่าที่เราเห็นและเป็นอยู่ มันไม่เกี่ยวกับลมฟ้าอากาศเท่าใดนัก เป็นธรรมชาติของทุกปี...

หรือว่าปีนี้ ..เขื่อน...ปล่อยน้ำที่เกินอัตรา...ไหลลงมาถึงเลาขวัญบ้านเรา อุทกภัยครั้งใหญ่จึงยากที่จะสกัดกั้น จึงขอให้ผ่านวันอันเลวร้ายนี้ไปโดยเร็วด้วยเถิด...

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๔


ฝนตกหนักติดต่อกันที่บ้านหนองผือ..เลาขวัญ..








......ภูมิทัศน์หน้าห้องสมุด...


แตนจ๋า...ลาก่อน

คงไม่ใช่เรื่องชิงรักหักสวาท แต่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายกันเลยทีเดียว อ้อ..ลืมไป ใช้คำว่าบาดไม่ได้ ต้องใช้คำว่าต่อยตี เพราะอาวุธประจำตัวของเขาคือหมัดเด็ด ใครได้ลิ้มลองรับรองทีเดียวจอด

ผมแพ้ทาง..แมลงสัตว์กัดต่อยทุกชนิด ทั้งมีปีกและไม่มีปีก โดนทีไรเป็นต้องให้คุณหมอฉีดยาแก้ปวด ผมจึงต้องระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะ ผึ้ง ต่อและแตน ต้นไม้ที่โรงเรียนมากมาย ผมจึงมักจะเจอสัตว์มีพิษพวกนี้หลายครั้ง ถึงชาชินแต่ก็กลัว ที่กลัวมากที่สุดคือเข็มฉีดยา..

วันนี้..รอดมาได้อย่างปาฎิหาริย์ คิดในใจว่าพระ"พ่อแก่"ที่ห้อยคอช่วยไว้แท้ ๆ ใครจะไปคิดว่าเล้าไก่ที่เข้าไปทุกวันจะเป็นที่สุ่มเสี่ยงได้ถึงปานนี้

ผมนำฟางไปลองพื้นเล้า พอน้องไก่รู้สึกอบอุ่นขึ้นมาก็เลยอยากจะเปลี่ยนสถานที่ออกไข่ ผมต้องเอื้อมไปเก็บไข่ไกลกว่าเดิม คราวนี้พอเอื้อมไม่ถึง ผมจึงยกเท้าขึ้นเหยียบรังไม้ เพื่อยืนปักหลักก่อนจะก้มลงหยิบไข่ไก่ทีละฟอง

ขณะที่ก้มๆเงยๆ รู้สึกผิดสังเกตที่หมวก เหมือนมีใครมาตบเบาๆ คละเคล้ากับเสียง หึ่ง ๆ หวี่ ๆ แล้วก็เสียงผะแผ่วตรงหูข้างซ้าย พอชายตามองก็รู้ว่าเป็นแมลงแน่นอน สัญชาตญาณตอนนั้นเหมือนได้ยินเสียงตัวเองตะโกนก้องร้องว่า…แตน

เท่านั้นเอง…ผมก็ออกจากประตูเล้าไก่มาได้ หันหลังกลับไป ด้วยหัวใจนักเลงเก่า ก็พบว่าบรรดาแตนน้อยใหญ่ บินว่อนอยู่ตรงประตู เหมือนท้าทายให้ผมเข้าไปอีก มันคงไม่กล้าบินออกมาไกลด้วยเป็นห่วงรังของมัน

ผมก็เลือดนักสู้พอตัว ไม่รอช้ารีบไปบอก “ครูพิน”ครูธุรการประจำโรงเรียน ที่มีประสบการณ์ปราบเซียนมานักต่อนัก ครูฟินประกาศก้องต้องหนูเอง ผอ. ว่าแล้วก็คว้ากระป๋องไบก้อนคู่กาย เดินขึงขังเข้าไปในเล้าไก่อย่างไม่สะทกสะท้าน ผมเริ่มกลัวใจครูพินมากกว่าแตนรังใหญ่ที่อยู่ตรงหน้าเสียอีก

ผมบอกครูพินให้ระมัดระวัง ภายในใจก็รำพึงรำพันไปว่า แตนจ๋า..ลาก่อนนะ..ทางใครทางมัน จากนั้นหมอกควันสีขาวเหมือนแสงเลเซอร์ก็พวยพุ่งออกมาจากเจ้าไบก้อน ๒ หัวที่อยู่ในมือครูพิน ฟุ้งกระจายไปทั่วเพดานเล้าไก่ ใช้เวลาไม่ถึง ๕ นาที เหตุการณ์ก็สงบลง ครูพินยืนยิ้มกริ่มเหมือนจะภูมิใจในผลงาน ส่วนผมก็เริ่มมั่นใจและเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงคำว่า ๒ หัวย่อมดีกว่าหัวเดียว.. มันเป็นอย่างนี้นี่เอง

ไหนๆก็ไหนๆแล้ว…วันนี้ครูพินทำบาป…ก็ควรจะได้ทำบุญเป็นการลบล้างกันไป ผมจึงให้เลี้ยงไก่และเก็บไข่ไก่ให้เรียบร้อย ส่วนผมก็นั่งพิจารณารังแตน ที่แตนนับร้อยตัวได้บินจากไปแล้ว แค่เห็นรังผมก็รู้สึกสยองขึ้นมาทันที

จึงต้องเดินผ่อนคลายไปแถวๆห้องสมด หยุดดูบริเวณที่เคยปลูกต้นหูกระจง จะลงอะไรดีระหว่างไม้ดอกไม้ประดับ กับไม้กระถางทั่วๆไป คิดได้อยู่ ๒ อย่าง คือต้นคอสมอส กับคุณนายตื่นสาย นับเป็นต้นไม้ที่ชอบและปลูกง่ายที่สุดแล้ว

ภารกิจสุดท้าย ที่จะลืมไม่ได้เลยก็คือ ตักน้ำออกจากบ่อปลา น้ำด้านนอกก็มากมาย รอการระบายลงสระ ส่วนในบ่อก็ทำท่าจะล้นถ้าฝนตกหนักรับรองไม่เหลือปลาดุก สำหรับนำเข้าในโครงการอาหารกลางวันนักเรียน

เสร็จแล้วก็ให้อาหาร สร้างความเบิกบานแก่บรรดาปลากว่า ๒๐๐ ตัว แต่ละตัวไม่ธรรมดาเลยกำลังน่ารักน่าเอ็นดู วันนี้ขึ้นต้นด้วยแหล่งเรียนรู้.."เล้าไก่" มาลงท้ายกันที่บ่อปลา….

เริ่มต้นกันที่..แตนจ๋า….แต่เล่ามาจนถึงปลาดุกจนได้….ไปไงมาไงเนี่ย…

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์



บรรยากาศสดใส ในช่วงปิดภาคเรียน






บทเรียนชีวิต....(๑) ไปที่ชอบ

ถ้อยคำที่พูดบ่อยและได้ยินอยู่บ่อยๆ ในงานที่ต้องแสดงความโศกเศร้า ไม่นึกว่าวันนี้ จะได้มุมมองในอีกมิติหนึ่ง ที่เพื่อนครูส่งมาให้ดูเป็นข้อคิดสะกิดใจ ที่สามารถใช้เป็นบทเรียนชีวิตได้

เพื่อนคงเห็นว่าชีวิตและงานย่างเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว จะคิดทำอะไรก็รีบทำ ฉวยโอกาสเสียในตอนนี้ ยังพอมีเวลา ถ้าหากมาคิดเสียดายในภายหลัง คงไม่มีใครสามารถช่วยอะไรใครได้

คำว่าไปที่ชอบๆ น่าจะมีความหมายในทางสร้างสรรค์มากกว่าความขบขัน สถานที่ที่คนส่วนใหญ่ชอบก็มีสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่สำคัญของชาติและศาสนา ตลอดจนร้านอาหาร

หากจะหมายรวมถึงสถานเริงรมย์ที่สร้างความรื่นเริงบันเทิงใจเข้าไปด้วย ก็ไม่เห็นเป็นไร คนเรามีสิทธิที่จะชื่นชอบกันได้ ตามแต่รสนิยมของแต่ละคน

ผมนึกไม่ออกเลยจริงๆว่าเคยคิดชอบไปที่ไหนบ้าง เพราะในวัยเด็กกับครอบครัวที่มีฐานะยากจน เรื่องท่องเที่ยวไม่ต้องมาพูดถึง แทบไม่รู้จักคำว่าเที่ยวเตร่จวบจนกระทั่งวัยรุ่น

อันเป็นวัยที่เรียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย หลายครั้งที่ตัดโอกาสตัวเอง ถ้าหากการไปเที่ยวหรือไปที่ชอบต้องเสียค่าใช้จ่าย จึงไม่อยากจะเบียดเบียนเงินทองให้พ่อแม่ต้องเดือดร้อน

ยกเว้น...เป็นการเดินทางที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับศึกษาเล่าเรียน นั่นหมายถึงถูกบังคับแบบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ความตั้งใจใฝ่ฝันว่าจะเริ่มท่องเที่ยวและไปสถานที่ชอบ ถ้าหากได้ทำงานมีเงินเดือนเป็นของตัวเอง เมื่ออายุ ๒๔ ปีวันที่ได้รับราชการครู ดูเหมือนชีวิตและงานครูลบเลือนความใฝ่ฝันจนหมดสิ้น

หลงเหลือไว้แต่ความคิด บุคลิกและความเคยชิน ของคำว่าหน้าที่และความรับผิดชอบ ติดตัวมาถึงทุกวันนี้ ยากที่จะสลัดทิ้งไป แม้ว่าจะใกล้เกษียณแล้วก็ตาม

จริงๆ บางช่วงบางตอนของชีวิตที่ผ่านมาก็เคยมีบ้าง ที่คิดริเริ่มเรื่องการท่องเที่ยว คิดจะไปที่ชอบอยู่เหมือนกัน จำได้อย่างแม่นยำ ตอนนั้นชีวิตล่วงล้ำเข้าสู่วัยย่าง ๕๐ ปีแล้ว

เหตุผลต้นเรื่องของความคิดเกิดจากการสร้างบล็อคในเว๊บไซต์โกทูโน..การได้ไปต่างที่ต่างถิ่นแล้วนำมาเขียนบันทึกเป็นเรื่องเล่า เป็นการฝึกสมองประลองการเขียน และเก็บไว้เป็นตำนานแห่งชีวิต

ในส่วนที่คิดได้มากกว่านั้นและทำได้จริง ๆ แม้จะไม่ต่อเนื่องแต่ก็ถือว่าได้เริ่มต้นอย่างสวยงามในช่วง ๒ ปี..ก่อนสถานการณ์โควิดจะคืบคลานเข้ามา

นั่นคือ..การท่องเที่ยวและเรียนรู้เรื่องราวในโครงการพระราชดำริ..ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นเรื่องราวที่ชอบและซาบซึ้งในหัวใจทุกครั้งที่ได้ไปเยี่ยมชมและกลับมาเขียนบันทึก ในเว๊บไซต์ www.gotoknow.org/blog/chayanto2505 ชื่อบล็อค“พระผู้ทรงเป็นครูของแผ่นดินกับโครงการพระราชดำริ”

เกือบ ๑๐ โครงการพระราชดำริ ที่ได้ไปเห็นและสัมผัสบรรยากาศจริงๆ สร้างความรู้สึกภาคภูมิใจมิใช่น้อย ช่วยลบล้างโอกาสที่สูญเสียไปและลบล้างตราบาปที่ติดตราตรึงใจมาตลอดชีวิต

จึงถือเป็นบทเรียนข้อที่ ๑ ในวันนี้...และต่อจากนี้เป็นต้นไป ไม่ควรต้องรอให้เกษียณอายุราชการ แล้วค่อยท่องเที่ยวหรือไปยังสถานที่ชอบ เพราะอนาคตข้างหน้ามันจะมีโอกาสอยู่จริงหรือเปล่า ก็ไม่สามารถจะรู้ได้..

ณ ปัจจุบัน..หรือช่วงเวลานี้ที่เหลืออยู่สำคัญที่สุด ทั้งเงื่อนเวลาและสุขภาพร่างกายยังแข็งแรง พอที่จะเขียนบันทึกและเล่าให้ลูกหลานฟัง ว่าทำไมถึงชอบไปยังที่แห่งนั้น...

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๔