เศรษฐกิจพอเพียงคือเศรษฐกิจสังคม

         “เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องเศรษฐกิจสังคมด้วย ไม่ใช่เรื่องเงินทองอะไรล้วนๆ พวกคนเศรษฐกิจเบื้องบนจะไม่เข้าใจ เพราะเขามองเรื่องเศรษฐกิจโดดๆ และมองเป็นธุรกิจหมด จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของสังคม ผู้คนก็ไม่เข้าใจเพราะไปเลียนแบบ ถ้าเปรียบเศรษฐกิจเหมือนลูกเหมือนแม่ ถ้าสังคมดีก็ออกลูกเก่ง แต่ถ้าอยากได้ลูกแล้วไปโค่นต้นมันก็ไม่มีลูกจะกินต่อไปแล้ว เราก็ไม่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ดี”

         เศรษฐกิจพอเพียงคนบางคนเข้าใจผิด คิดว่าดึงสังคมไทยไปเป็นสังคมล้าหลัง เป็นสังคมโบราณ ไม่ค้าขายไม่ติดต่อกับใครเป็นการคิดเอาเองว่าเป็นอย่างนั้นแล้วก็เกิดกลัวแท้จริงไม่ใช่อย่างนั้น ระบบเศรษฐกิจพอเพียง คือพยายามผลิตทุกอย่างที่บริโภคให้ทุกคนพอเพียง เหลือก็ขาย ทำให้มีความมั่นคง คือผลิตให้พอกินพอใช้หมดทุกคนก็สบาย ฐานก็แน่น อย่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนเธอแลนด์ เดนมาร์ก ก็เช่นเดียวกัน อย่างเดนมาร์กตอนนี้มีเรตติ้งบอกว่า เป็นประเทศที่มีคอรัปชั่นต่ำที่สุด

         เศรษฐกิจพอเพียง อธิบายตามทฤษฎีใหม่ตามที่พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งแล้วก็ใช้คำนี้จริงๆ ทรงรับสั่งเรื่องนี้มานาน 27 ปี แต่ไม่มีคนได้ยิน ทั้งๆ ที่คนรักพระเจ้าอยู่หัว แต่ด้วยวิธีการศึกษาทำให้ไม่เข้าใจ พระเจ้าอยู่หัวพยายามบอก ขนาดในสวนจิตรก็พยายามทำให้ดู ทำนา เลี้ยงวัว และอยู่ใกล้ทำเนียบนิดเดียวพระองค์ท่านพยายามจะสื่อ แต่คนไทยก็ไม่รู้ เพราะมัวแต่หลงระเริงไปกับฟองสบู่

 

         ทฤษฎีใหม่ 3 ขั้นพึงเข้าใจ

         ทฤษฎีใหม่หมายถึง สิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งมีอยู่ 3 คำ ทฤษฎีใหม่ขั้นที่หนึ่ง คือ พยายามให้ทุกครอบครัวได้มีพอเพียงได้มีการผลิตทุกอย่างที่กินที่ใช้ให้พอเพียง จะไม่ได้เงินทอง ไม่ได้เงินสด หรือได้ไม่มากก็ขอให้มีกิน กินอิ่มพอเพียง ให้พอเพียงพอทุกคนจะได้สบาย

         ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง ก็เป็นเศรษฐกิจชุมชน มีการรวมตัวกันทำเรื่องการเกษตร ธุรกิจชุมชนทุกอย่างเรามีรูปแบบที่ทำได้ง่ายไม่ยาก ทำให้ทุกเขตทุกตำบลหายจนง่ายนิดเดียวถ้าเข้าใจ เมื่อ 7,000 ตำบลหายจน    เขาก็จะมีอำนาจซื้อ เขาจะมีอำนาจซื้อมากและเศรษฐกิจข้างบนจะดีขึ้นเพราะพื้นฐานล่างแน่น

ที่ผ่านมาเศรษฐกิจเอาแต่ฟองสบู่ข้างบน แล้วไปทำลายฐานล่าง ข้างล่างก็อ่อนแอและยุบตัวให้ดูโรงแรมรอยัลพลาซ่าเป็นตัวอย่าง พอไปเติมข้างบนมากจนหนัก ข้างล่างรับไม่ไหวก็ต้องยุบลง

         เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างทิ้งทำลายมาตลอด 40 ปี คือ ทำลายสิ่งแวดล้อมเอามาถมเป็นเงิน ฉะนั้นป่าไม้ของเรา 40 ปี หมดไปกว่าเท่าตัว ไปทำลายทรัพยากรมาเป็นเงิน และเป็นเงินของบางคนเท่านั้น เป็นเงินของคนส่วนน้อยที่รวย คนส่วนใหญ่ก็ยังยากจน การที่อุตสาหกรรมไปยืมเงินเขามา นำเทคโนโลยีมาจากต่างประเทศ แล้วใช้แรงงานราคาถูกที่ทะลักมาจากความล้มเหลวทางการเกษตร ทะลักมาเป็นแรงงานราคาถูก ทำอุตสาหกรรมชนิดที่มีราคาถูกผลิตของมาขาย พอประเทศเพื่อนบ้านราคาถูก อย่าง เวียดนาม จีน เข้ามา เจ้าของทุนเจ้าของเทคโนโลยีเขาก็ถอนทุน เราก็ไม่มีอนาคตและก็จะไม่มีวันกลับมาเพราะประเทศจีน มีแรงงานใหญ่มาก ซึ่งวิธีนี้จะไม่กลับมาอีกแล้ว

         ประการต่อมา เราไปกู้เงินจากต่างประเทศไม่ได้เอามาทำเศรษฐกิจ แต่เอามาเก็งกำไรกันโดยอาศัยกระแสดอกเบี้ย กู้เขามาอาจเสียแค่ 3% ดอกในประเทศไทย 10% ซึ่งก็ไม่ต้องทำอะไร แค่กู้มาแล้วก็นั่งกินดอกเก็งกำไรที่ดิน คอนโดมิเนียม นี่แหละ 40 ปี ทำอยู่สามอย่างเป็นการบ่อนทำลายฐานข้างล่างทั้งฐานทรัพยากร ฐานวัฒนธรรม ฐานชุมชนหมดเลย ก็อ่อนแอทรุดตัวเลย ด้วยเหตุนี้เศรษฐกิจพอเพียงจึงควรเกิดขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ถ้ารากฐานเข้มแข็งชุมชนก็เข้มแข็ง ข้างบ้านก็จะสบาย

 

         ฉะนั้นทฤษฎีใหม่ขั้นที่สองเป็นเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งมันง่ายพอที่จะทำให้ 7,000 ตำบลสบาย ขั้นที่ 3 ให้มีบริษัทขนาดใหญ่มาเชื่อมกับชุมชนจะได้สามารถส่งสินค้าเข้าเมือง และสินค้าส่งออกทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น ตกลงทั้งหมดนี้ทำให้ครอบครัวพอเพียง ประเด็นที่สองชุมชนเข้มแข็ง ประเด็นที่สามธุรกิจขนาดใหญ่เชื่อมกับชุมชน ทั้งหมดจะเชื่อมโยงกันทำให้เกิดวามมั่นคงพอเพียง ที่นี้คำว่าพอเพียงก็ขยายความต่อไปได้อีกหลายๆ อย่าง อย่างจิตใจพอเพียง ซึ่งถ้าจิตใจพอเพียงเราก็ให้คนอื่นได้ คนมีร้อยล้านถ้ายังไม่พอเพียงก็ยังจนอยู่อย่างนั้น แล้วก็ให้คนอื่นไม่เป็น ถ้ารู้จักพอเพียงก็ให้คนอื่นเป็น มีการรวมตัวกันพอเพียง มีการเรียนรู้กันพอเพียง เอื้ออาทรกันพอเพียง ทุกอย่างมันก็พอเพียงหมด ก็ได้สมดุล ตกลงก็ไม่ใช่เรื่องล้าสมัย

 

         ตัวอย่างผู้ใหญ่วิบูลย์ (เข้มเฉลิม) ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ปลูกมันสำปะหลังมา 20 ปีมีที่กว่า 300 ไร่ มันสำปะหลังทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายป่า ทำลายไปหมดแล้วก็ขาดทุนทุกปีๆ หนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเป็นหนี้รวม 3 แสนบาท ชาวบ้านแถบนั้นทำงานกันเหนื่อยมากและก็ยังขาดทุนเป็นหนี้จนเครียด ก็เกิดอาชญากรรมสูงชีวิตธรรมชาติล่มสลายหมด แต่ผู้ใหญ่วิบูลย์เป็นคนฉลาด เป็นคนช่างคิด จบ ป.4 ก็คิดว่ามันไปไม่ได้ถึงจุดต้องเปลี่ยน เพราะทำอย่างเดิมก็ขาดทุนและเหนื่อย ก็ขายที่ไปหมดแล้วใช้หนี้เหลือ 9 ไร่ ไม่ปลูกมันสำปะหลังอย่างเดียว แต่ปลูกทุกชนิด 500 กว่าชนิด

 

         จากนั้นความเป็นป่ากลับก็คืนมา ทำทุกอย่าง พืชผัก ผลไม้ ไม้เลื้อย สิ่งแวดล้อมก็พอเพียง เพราะความหลากหลายทางชีวภาพ ไปที่นั่นเราจะพบพวกนก กระรอกมาเยอะเชียว สัตว์ก็มีความสุขขึ้นเพราะจิตมนุษย์เปลี่ยน คือพอเพียง ตัดความโลภอยากได้เงินเยอะแต่ขาดทุน แต่ทำให้พอบริโภค ทุกคนกินอิ่มมาก

 

         เดี๋ยวนี้โรงเรียนในชนบทกว่าหมื่นโรงเรียนอดข้าว ไปโรงเรียนไม่ได้กินข้าว จนเกิดโครงการอาหารกลางวัน เป็นเรื่องประหลาดเป็นเกษตรกรเองแต่ไม่ได้กินข้าวที่ทำขาดทุนเขาเรียกตกเขียว พอข้าวสุก เจ้าหนี้ก็มาเอาข้าวไป คนไทนจึงพบกับความไม่พอเพียงทำให้ไม่มั่นคงนึกถึงเด็กไม่ได้กินข้าวเวลาไปโรงเรียนก็เลยลำบากท้อแท้ เกษตรกรปลูกได้อย่างเดียวซึ่งเป็นของใหม่ที่พวกเมืองไปสร้างขึ้น โบราณเขาไม่ได้ทำ เกษตรกรชั้นโบราณเขาปลูกผัก ปลูกต้นไม้ เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ แต่คนในเมืองไปเปลี่ยนให้เขาทำอย่างเดียว เพื่อความสะดวกและกำไรของตัว ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลังอย่างเดียวคือ พืชเชิงเดียว ที่กำลังพูดเพื่อให้มันพอเพียงคือทำเกษตรผสมผสาน

 

         หรือที่คล้ายๆ กัน คุณหมออภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผู้อำนวยการ ร.พ.อุบลรัตน์ กับคุณหมอทานทิพย์สองสามีภรรยาที่ จ.ขอนแก่น ไปส่งเสริมชาวบ้าน 41 หมู่บ้านให้รวมตัวกันทำเกษตรผสมผสาน เดิมชาวนาปลูกข้าวอย่างเดียว เปลี่ยนใหม่มาขุดสระน้ำในนาตามทฤษฎีใหม่ของพระเจ้าอยู่หัว เพื่อมีน้ำตลอดปีแล้วเลี้ยงปลา ปลูกผักปลูกต้นไม้ เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ขี้หมูลงไปปลาก็กินก็เชื่อมโยงกัน ปลูกพืชนานาชนิด ขิ่งข่าตะไคร้ ไม้ยืนต้น เขาเรียกเกษตรผสมผสาน  ไปส่งเสริมอยู่ 4 ปี ทุกคนมีกินหมดอาหารก็มีเหลือเยอะแยะ

 

         เราต้องทำอย่างนี้ทั้งแผ่นดินไทย มีให้พอเพียง อาหารต้องผลิตให้เยอะ สรุป 41 หมู่บ้าน ทุกคน 1.กินอิ่มหมดพอเพียง 2.เหลือกินก็ขายหลุดหนี้ 3.มีเงินออมขึ้น 4.สุขภาพดี กินอิ่ม นอนหลับสนิท สบายอกสบายใจ 5.เกิดผู้นำตามธรรมชาติขึ้น 700 คน ใน 41 หมู่บ้าน มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง แต่ก่อนผู้นำชุมชนมีคนเดียวตายไปก็แย่ ที่โน้นบทบาทสตรีมีมาก เพราะจะเป็นผู้ดูแล ผู้หญิงจะดูแลเรื่องกองทุน ดูแลเงินได้กว่า 6.มีต้นไม้เพิ่มขึ้นมาก 2 แสนต้น เดิมทำเกษตรปลูกพืชเชิงเดียว ความเป็นป่าหายไปหมด ใน 40 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ความเป็นป่าหายไปกว่าเท่าตัว ประเทศไทยมีเนื้อที่ 321 ล้านไร่เมื่อ 40 ปี เนื้อที่หายไป 220 ล้านไร่ คิดเป็นกว่า 60%

 

         พระพุทธเจ้าสอนว่า ถ้าอยากจะเดินให้เปลี่ยนทางเลือกเพื่อไม่ให้ฉิบหาย บริหารไม่ยากแต่ฉิบหาย ทำเพื่อความไม่ฉิบหายต้องหมั่นประชุมกันเป็นหมู่ ถ้าเกิดชุมชนเขาร่วมตัวกันร่วมคิดร่วมทำตอนนี้ก็มี สภาพัฒน์ ประสานงานกระทรวงมหาดไทย ธนาคารออมสิน มีกองทุนเพื่อสังคม ซึ่งบางจากก็ทำอยู่ คือไปส่งเสริมชาวบ้านประมาณ 1 ล้านครอบครัวมีบริษัทขนาดใหญ่เข้าไปส่งเสริมชุมชน นี่คือภาพโดยย่อของเศรษฐกิจพอเพียง

 

         เรื่องนี้ต้องมีการเชื่อมโยง ถ้าเราพูดเพียงเรื่องใดเรื่องเดียวก็ไม่พอ นี่คือการสร้างคุณค่าและจิตสำนึก   ให้กับคนไทยถ้ายังโกง ยังเป็นศรีธนญชัยก็ไม่มีคุณค่า สร้างเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้สังคมไปด้วยกัน คือการรวมตัว ร่วมจิตร่วมใจ เพราะเป็นการร่วมมือ ร่วมจิตร่วมใจกันเพื่อนึกถึงคนอื่น นึกถึงสิ่งแวดล้อม ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจการเงิน ต้องปฏิรูประบบการเมืองและราชการให้เปลี่ยนไป เพราะถ้าอยู่อย่างเดิมก็ตายลูกเดียว ต้องปฏิรูปการศึกษา สื่อเพื่อสังคมให้เข้มแข็ง ปฏิรูปสื่อเพื่อสังคม ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 40 บอกว่าคลื่นวิทยุ เหล่านี้ต้องมีการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาเพื่อจะใช้คลื่นเหล่านี้ ให้เป็นประโยชน์ ถ้าทำตรงนี้สังคมก็จะมีกำลังมากขึ้น

 

         ถ้าเพียงแต่ข้างบนทำกันอย่างเดียวรับรองไปไม่รอด ไม่ได้เป็นการสร้างฐานข้างล่างให้เข้มแข็ง เศรษฐกิจข้างบนก็ต้องปรับตัว เพราะที่แล้วมา เศรษฐกิจมหภาคทำลายข้างล่าง ควรทำเศรษฐกิจมหภาคเชื่อมโยงกัน เราต้องคิดทุกอย่างให้เป็นเชิงเกื้อกูล ไม่ใช่ทำลาย

 

         ถามว่าแล้วคนในเมืองจะทำอย่างไร ผมว่าคนในเมืองทำอันที่สองได้ คือเศรษฐกิจชุมชน คือต้องรวมตัวกันแล้วเพื่อจะได้เจอทางออก อย่างที่สลัมวัดช่องลม ยานนาวา คนจนในสลัม มีซิตี้แบงก์ร่วมสนับสนุนมีการประชุมกัน เงินก็ไม่ได้ให้เปล่า เราให้ยืมเพื่อแสดงให้เห็นว่า ถ้าเขาสามารถใช้คืนได้ เขาเข้มแข็ง เราอย่าให้เปล่า

 

         หรืออย่างกองทุนพัฒนาชุมชนเมือง (พชม.) ของการเคหะแห่งชาติ คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นผู้อำนวยการคนแรกมีเงิน 1,250 ล้านบาท ทำมา 5 ปี เงินเพิ่มขึ้นเป็น 1,600 ล้าน มีสตาฟฟ์ทำงาน 170 คน ออกไปช่วยประชาชนเข้มแข็งขึ้นจำนวน 28,000 ครอบครัว ถ้าดูตรงนี้ จะเป็นเรื่องที่ง่ายมากเพราะเป็นเงินที่ไม่สูง เงินที่จะไปช่วยคนจนให้ลงทุน ให้ชุมชนรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง นอกจากนี้ยังสร้างความเชื่อใจ ที่ได้ทำงานและไปช่วยครอบครัว เป็นรูปแบบที่สามารถขยายไปทุกจังหวัด โดยเพิ่มกองทุนให้ใหญ่ขึ้นให้มารวมตัวกันมีเงินทุนให้เขายืมทำกิจกรรมทำมาหากิน อันนี้คือ เศรษฐกิจพอเพียงขั้นที่สอง

 

         ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ปีที่ผ่านมามีคนพูดถึงกันมากขึ้น เพราะคนสนใจกันมากขึ้น แต่ต้องพยายามเข้าใจให้ถูกด้วยสื่อมวลชนต้องเขียนให้ดีให้ถูกก็จะเป็นประโยชน์

น.พ. ประเวศ  วะสี

ราษฎรอาวุโส เจ้าของรางวัลแมกไซไซ

***จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับครบรอบ 2 ปี วันที่ 21 ตุลาคม 2541