ปัญญาพอเพียง

         “เศรษฐกิจที่เป็นเรื่องของรายได้กับเรื่องชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ การจัดความสัมพันธ์เรื่องรายได้และวิถีชีวิตให้สมดุลกันเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของปัญญาพอเพียง ต้องมีปัญญามากพอที่จะจัดการทั้งชีวิตและเรื่องรายได้ให้สมดุล เพราะรายได้กับชีวิตที่ไม่สมดุลนำมาซึ่งปัญหา”

         คงไม่มีใครกล้าบอกว่ารู้เศรษฐกิจพอเพียงจริง เศรษฐกิจพอเพียงเป็นพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานลงมา เป็นวิธีเดียวที่จะเป็นทางเลือกจะนำไปสู่การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจบ้านเมืองได้ ส่วนในความเข้าใจเท่าที่พวกเรามีอยู่ก็เข้าใจว่า เรื่องเศรษฐกิจคงไม่ใช่มองแค่เรื่องรายได้เรื่องของการทำธรุกิจเรื่องที่มีแต่ซื้อๆ ขายๆ แต่ต้องรวมทั้ง 2 เรื่องคือ รายได้และชีวิตความเป็นอยู่

 

         ถ้าพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงจากความเข้าใจของผม เข้าใจว่าเกิดขึ้นจากความสมดุลระหว่างชีวิตกับรายได้ ให้พอเพียงที่จะอยู่ได้ให้มีชีวิตความเป็นอยู่อยู่ได้ คำว่าอยู่ได้หมายถึงชีวิต ที่อยู่ได้ดีในระดับที่พอใจ ไม่ได้หมายถึงว่ารายได้มากมายมหาศาล แต่ชีวิตนั้นนำมาซึ่งความสุขให้กับคนให้ชีวิตในชุมชนอยู่ร่วมกันได้

 

         เศรษฐกิจที่เป็นเรื่องของรายได้กับเรื่องชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ การจัดความสัมพันธ์เรื่องรายได้และวิถีชีวิตให้สมดุลกันเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของปัญญาพอเพียง ต้องปัญญามากพอที่จะจัดการทั้งชีวิตและเรื่องรายได้ให้สมดุล เพราะรายได้กับชีวิตที่ไม่สมดุลนำมาซึ่งปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้สิน เรื่องขาดทุนแต่หากจัดให้สมดุลได้ อย่างน้อยที่สุดไม่ขาดทุน แม้จะไม่มีกำไร คือสมดุลได้ในระดับเสมอตัว เศรษฐกิจพอเพียงในความหมายที่ผมเข้าใจเป็นเรื่องของ การที่คนมีภูมิปัญญามากพอที่จะจัดการปัญหาเศรษฐกิจได้พอเพียง ในส่วนที่เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คงจะมองทั้งระบบ ไม่ได้หมายถึงแค่รายได้ ตรงนั้นพวกเราคงต้องน้อมรับมาทำความเข้าใจกับชีวิตความเป็นอยู่ของเราเพื่อปรับชีวิตความเป็นอยู่ให้สอดคล้อง สามารถดำเนินอยู่ได้อย่างเป็นปกติมากกว่าจะเสียเวลานั่งตั้งคำถาม

 

 

         ความสมดุลในการจัดการ

 

        ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงจะต้องทำอย่างไรทำอะไรบ้าง

 

         คนมักจะติดที่รูปแบบ พอพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ รูปแบบของเราจะอยู่ที่ตัวเงินแต่ไม่ค่อยสนใจเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ จนน่าสงสัยเหมือนกับว่า ถ้าเรามีเงิน เงิน เงินมากมายก่ายกองไม่เคยสนใจเรื่องชีวิต แต่ต้องกลายเป็นอาชญากร ต้องกลายเป็นคนที่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น และทุกอย่างที่ขวางหน้าเพื่อให้ได้กำไร ไม่สนใจว่าใคร ถ้าผ่านหน้าเราต้องฆ่าทิ้งแล้วได้สตางค์ การมีเงินมีเพื่ออะไร มีทำไม มันหาความสุขอะไรให้กับตัวเราได้แค่ไหนถ้าเราต้องทำอย่างนั้น

 

         ผมไม่ค่อยได้มองที่ตรงนั้นนัก คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงในความหมายผมก็คือมองที่ตัวความเข้าใจ ความรอบรู้ ความสามารถในการจัดการที่พอเพียง แต่ถ้าเรามองในรูปแบบการผลิต เราต้องพูดถึงวิธีการผลิต ที่เป็นเรื่องของสัมมาอาชีพ ต้องทำให้มีรายได้ ชีวิตอยู่ได้ แล้วก็จะต้องไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนและไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน รูปแบบจะต้องคิดอย่างนี้

         อย่างทำการเกษตรทุกวันนี้ ปลูกข้าวโพดขายยังจัดเป็นสัมมาอาชีพอยู่ในความเข้าใจ แต่ในความเป็นจริงการปลูกข้าวโพดแล้วเกิดปัญหาขาดทุนก็คือการเบียดเบียนตน และกลายเป็นภาระหนี้สินถามว่าเบียดเบียนท่านหรือเปล่าใช่ เพราะมาจากการทำลายสภาพแวดล้อม ถ้าไม่ใช่สัมมาอาชีพ แล้วเป็นเศรษฐกิจพอเพียงไหม มันก็อาจจะไม่ใช่ก็ได้ เศรษฐกิจพอเพียงจะต้องไม่ทำลายทั้งสภาพแวดล้อม ไม่ทำลายทั้งตัวเอง ไม่ทำลายความสัมพันธ์ทั้งระบบ

 

         ผมถึงมองว่าเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงด้านรูปแบบ เราต้องมามองเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนกัน ถ้าจะมองตอนนี้และต้องใช้กระบวนการที่มีความต่อเนื่องนำไปสู่การจัดการทั้งระบบ จะทำให้เกิดแนวทางทฤษฎีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่พสกนิกร หนึ่งให้มีการผลิตพอกินพอใช้เบื้องต้นก่อน แล้วถ้ามีมากขึ้นรวมกันนำไปสู่การจัดการซับซ้อนขึ้น ต่อไปก็อาจจะขาย จนถึงจัดการเป็นอุตสาหกรรมแปรรูป ถึงขั้นการส่งออก ถ้าระบบอย่างนี้เกิดความเป็นจริง ก็คือสหกรณ์

 

         ปัญหาที่พระองค์ท่านต้องลุกขึ้นมาพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงด้วยเหตุผลสำคัญอาจเป็นเพราะระบบสหกรณ์ไม่ทำงาน มันไม่ได้ทำตามระบบ ทำแต่งานส่งเสริมเพียงบางเรื่อง จึงทำให้ระบบการดำเนินชีวิตของคนในชนบทที่เป็นภาคเกษตรกรจึงล้มเหลว ท่านเลยตรัสเพื่อจะให้สติแก่ทุกคนหรือเป็นการเตือนสติ แก่ระบบราชการให้ทำงานครบทั้งระบบ ให้คนเข้าใจและมองอะไรมากกว่าเท่าที่ผ่านมา ผมมองเศรษฐกิจพอเพียงเป็นระบบไม่ใช่แค่รายได้

 

         สำหรับการนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้กับภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาคเกษตรนั้น ถ้าพูดถึงระบบมันไม่ใช่คนใดคนหนึ่งทำเพียงคนเดียว ทั้งระบบประกอบด้วยหลายเรื่อง คนที่อยู่ในภาคธุรกิจอื่นก็เป็นส่วนประกอบของเศรษฐกิจพอเพียงในส่วนที่เขาเป็นอยู่ ทั้งหมดเป็นระบบ ชาวไร่ชาวนา พ่อค้า แล้วก็พวกผู้บริโภคทั้งหมดคือระบบ

 

         ฉะนั้นหน้าที่ของแต่ละคนที่มีอยู่จะจัดความสัมพันธ์ในแง่บทบาทได้อย่างเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทั้งหมดจะสัมพันธ์ได้ไม่ลงตัว เพราะตอนนี้บทบาทเราถูกแยกเป็นชิ้นๆ พอไม่มีความสัมพันธ์เลยกลายเป็นว่าไม่สามารถนำมาเป็นระบบ พอเป็นระบบจะต้องเข้ามาร่วมมือกัน ถ้ามองในแง่ของงานพัฒนาคือ ระบบสหกรณ์ในความเป็นจริงคือเอาทุกสิ่งมารวมกัน สหกรณ์ ทุกกรณีต้องมารวมกัน เมื่อรวมกันก็จะเสริมในส่วนที่ไม่มี การที่จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่จะให้เข้ามารวมกันได้ยังไม่มีใครพูดถึง ตอนนี้จึงเป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายไม่สามารถมารวมกันได้

         แต่ในชั้นต้นประการสำคัญบทบาทที่แต่ละคนมีนั้นถ้าคิดถึงเศรษฐกิจพอเพียง จะนึกถึงว่าใคร เป็นผู้ดำเนินงานในเบื้องต้นขั้นพื้นฐานก่อน ถ้าเห็นว่าเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม เป็นฐานของสังคม เพราะภาคเกษตรยังถือเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมอยู่ เรามีคนอยู่ 60 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตรมากกว่า 40 ล้านคน ฉะนั้นคนมากกว่า 40 ล้านคนนั้นคือคนส่วนใหญ่ และเป็นกลุ่มที่เกิดปัญหากับสังคมมีภาระหนี้สินมากมายไม่พอกิน จนเกิดพระราชดำรัสนี้เอง เพื่อที่จะให้พออยู่พอกินในเบื้องต้นก่อน

 

         ถ้าเอาตรงนี้เป็นตัวตั้ง ทุกคนก็ต้องเข้ามาช่วยเสริมให้คนส่วนนี้พอกินด้วยกระบวนการที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจก็คงต้องมองว่าจะเชื่อมตรงนี้อย่างไร อุตสาหกรรมแปรรูปจะเชื่อมอย่างไร การเชื่อมเป็นบทบาท ของคนที่ไม่ได้อยู่ในส่วนใหญ่ของสังคม แต่ต้องเอาเรื่องของคนกว่า 40 ล้านคนเป็นตัวตั้ง อุตสาหกรรมต้องกลับมาสู่อุตสาหกรรมการเกษตร นำไปสู่การจัดการผลผลิตที่เกิดขึ้นในภาคเกษตรตรงนี้ด้วยวิธีการอย่างไรที่จะทำให้ภาคเกษตรได้รับประโยชน์ยิ่งกว่าเดิม

         แต่ในชั้นต้นเรายังไม่ได้เริ่มในพื้นฐานของสังคมเลย ถ้าทั้งหมดของสังคมจะลงมาร่วมภาคอุตสาหกรรมต้องมาเสริมประโยชน์ตรงนี้อย่างไร ต้องเคลื่อนไปตรงนั้นด้วยกันทั้งหมด ขณะเดียวกันภาคเกษตร ซึ่งเป็นภาคใหญ่ถือเป็นเจ้าของปัญหาถือว่าสำคัญ พวกนี้จะต้องมานั่งทำความเข้าใจเรื่องพื้นฐานความเป็นอยู่ ผมพูดบ่อยๆ ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะเกษตรกรรายเล็กรายย่อยที่กลายเป็นแรงงานภาคเกษตรที่ไม่มีทางเลือก พวกนี้ขาดการวางแผนชีวิตหมดเลย ถามว่าทำไม ก็เพราะตั้งแต่เขาเกิดมาเป็นเกษตรกรอยู่ในทุ่งไร่ทุ่งนาเขาทำทุกอย่างในระบบเพาะปลูกของเขาจากการส่งเสริมหมดเลย การทำงานตามระบบส่งเสริม

 

         แน่นอน จะมีการวางแผนเพียงแค่ฤดูกาลหนึ่งของฤดูการผลิตเท่านั้นเพื่อจะให้รู้ว่าฤดูนี้ปลูกอะไร และจัดการอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดมาหลังจากหมดสิ้นฤดูกาลราคาพืชผลการผลิตก็มีปัญหา ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการไปชุมนุมหน้าทำเนียบ มันเป็นได้แค่นั้นเอง แทนที่จะมานั่งคิดถึงกระบวนการจัดการทั้งระบบ เขาไม่คิด

         สหกรณ์ก็มีเป้าหมายเชิงตัวเลข ปีนี้จะมีเกิดขึ้น 500 สหกรณ์ อำเภอละ 1 สหกรณ์ ถามว่าตั้งขึ้นมาแล้วคนรู้เรื่องสหกรณ์ว่าอย่างไร ตั้งขึ้นมาแล้วกู้เงินได้ ก็แค่นั้นเอง คนที่เป็นสมาชิกสหกรณ์เป็นหนี้ล้นพ้นตัว ฉะนั้นสหกรณ์เป็นแค่ให้คนรวมตัวกันเป็นลูกหนี้กันกู้เงินกัน สถาบันการเงินลงมาเพื่อการลงทุนแต่ไม่รู้ ระบบการลงทุนและการจัดการทุน

 

         ความจริงเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางที่เป็นทางรอดของคนไทย ถ้ารัฐทำโดยไม่มีพื้นฐาน ทำโดยชูเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแค่ให้เกิดตัวเลข ก็จะเหมือนระบบสหกรณ์ที่เกิดมาแล้วเมื่อ 70 ปีก่อน มันแก้ปัญหาไม่ได้หรอก คนก็เข้าไปทำเพราะคิดว่าจะได้ประโยชน์จากการให้ทุนของผู้ส่งเสริม แค่นั้นเอง ถ้าทุนหมดก็เลิก ฉะนั้นต้องทำความเข้าใจคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง น่าจะหมายถึงอะไรบ้าง คงไม่ได้แปล ตายตัวว่าต้องเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็คงไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ

         ต้องทำความเข้าว่าจะต้องเป็นอย่างไรบ้างจะทำอย่างไร เพื่อให้เป็นอย่างนั้นแล้วต้องถามว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นเราได้อะไร เรามีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นหรือเปล่า แล้วทำให้เราพอเพียงได้ไหม พอเพียงทั้งความสุข พอเพียงทั้งทรัพย์สินที่จะเกิดขึ้น แล้วรู้จักพอไหม ถ้าไม่รู้จักพออยู่ไม่ได้นะครับ เพราะสังคมจะล่มจม  เพราะความไม่รู้จักพอ คนมีความสามารถไม่เท่ากัน คนที่มีความสามารถมากไม่รู้จักพอก็เอาของคนอื่นหมด มันไม่ใช่สัมมาอาชีพ ถ้าไม่รู้จักพอ

 

         ส่วนการดำเนินงานของรัฐที่ผ่านมาว่าผมยังไม่ค่อยมั่นใจ ผมไม่ได้เข้าใจสิ่งที่รัฐบาลทำทั้งหมด แต่ผมเห็นว่าเป็นระบบส่งเสริมและอยู่ในกลไก

ของระบบราชการอย่างเดิม คือราชการก็ยังเป็นคนเก่า แล้วผมก็เห็นว่าราชการก็ยังไม่ได้คิดอะไรใหม่ สิ่งที่ถูกให้ทำเป็นหัวข้อใหม่ ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าออกมาจะเป็นเรื่องใหม่ได้จริงหรือเปล่า แล้วรัฐบาลก็ไม่มีใครยืนยันว่าจะดำเนินการชั่วกัปชั่วกัลป์ได้ ผมไม่ได้มองว่า มันผิดทาง แต่ไม่มั่นใจว่าถูกทางความคิดการจุดประกายอาจจะถูกแต่ถ้าเริ่มต้นแล้วไม่ได้ทำที่ตัวเนื้อหา ก็คงไม่ได้ประโยชน์อะไร

 

 

         ภูมิปัญญาพาชาติรอด 

         การที่เอาประกายมาแต่เนื้อหาไม่มี ต้องทำความเข้าใจว่าเนื้อหาในความเป็นจริงคืออะไร ระบบราชการต้องเปลี่ยนไม่ใช่เอาระบบราชการมาพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ไปไหนก็พูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ข้าราชการคนเดิมก็พูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแต่ตัวเองก็ยังไม่พอเพียงอยู่อย่างเก่า มันจะได้อะไรขึ้นมาจากการพูดอย่างนั้น เลยกลายเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งที่จะเอามาใช้ ที่จะแสวงหาทุนเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์จากมันบ้าง

         เราไม่ได้สร้างระบบมาเรียนรู้ในสังคม การเรียนรู้ที่ผ่านมาโดยหลักสูตรไม่ได้เน้นการสร้างคนให้เข้มแข็ง เน้นเพื่อให้รู้ว่าจะเอาเทคโนโลยีที่ฝรั่งคิดได้มาใช้อย่างไร ยังไม่คิดถึงขั้นใช้อย่างมีประสิทธิภาพ คิดว่าใช้อย่างไร ที่ไม่ให้ขาดทุน แต่ฝรั่งจะต้องได้ประโยชน์เท่าเดิม การพัฒนาจึงเป็นแค่การรักษาประโยชน์ของตัวเอง ไม่ให้เสียมาก ทำให้ตัวเองอยู่ได้แต่ไม่เกิดพัฒนาการเรียนรู้ พอกระแสการพัฒนาเริ่มปรับเปลี่ยนก็ไม่สามารถ พึ่งตัวเองได้เพราะความรู้ไม่ได้เน้นไปเพื่อการพึ่งตนเอง

 

         ถ้าการศึกษาเป็นแบบการเรียนรู้คนจะช่วยตัวเองได้ผมเองก็เคยตกอยู่ภายใต้ระบบส่งเสริมแต่ช่วงหนึ่งได้รับสิ่งใหม่ที่ไม่คิดว่าจะบังเอิญไปรู้ มันช่วยให้ผมเกิดการเรียนรู้ได้ตั้งเยอะ ถ้ากระแสของการพัฒนาอย่างนี้ แม้การศึกษาจะยังไม่ถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็น แต่ถ้าเปิดโอกาสให้คนมีโอกาสได้แสวงหามากกว่าถูกจำกัด ให้เป็นไปตามกรอบ ก็คงไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ผมเองก็ได้รับอิทธิพลการศึกษาสมัยใหม่ แต่ที่เอาตัวรอดได้ ในวันนี้ไม่ใช่เป็นความคิดที่มาจากระบบเลย คือความคิดที่อยู่นอกระบบหมดเลย ได้จากการที่เราคลุกคลีใกล้ชิดบ้าง ได้จากการที่เคยคิดว่าเขาโง่บ้าง

         เราต้องยอมรับว่าประเทศเรายังต้องเป็นระบบทุน เป็นอย่างอื่นคงไม่ได้ในปัจจุบัน เป็นระบบที่พวกเราพอใจแต่เราไม่ได้เข้าใจระบบทุนคืออะไร ถ้าเข้าใจก็จะไม่มีปัญหา ถ้าผมมองในแง่มุมของผมเข้าใจว่าระบบทุนความจริงเป็นแค่ระบบหมุนเวียน ซึ่งอาจจะใช้ตัวเลขอะไรก็ได้มาหมุนเวียนเพราะการหมุนเวียนเพื่อการเกิดประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรให้เพียงพอต่อประชากรที่เพิ่มขึ้น ระบบทุนจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ทำให้คนที่มากกว่าทรัพยากรพอใจกับทรัพยากรที่มีโดยการหมุนเวียน เหมือนกับมีเงิน 5 บาท แต่มีคน 10 คน ทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่ามีเงินอยู่ 1 บาท สร้างความรู้สึกนี้ให้กับคน เครื่องมือสำคัญของระบบทุนที่สำคัญมากก็คือธุรกิจ ในระบบมีตัวประกอบมากมาย หนึ่งในตัวประกอบของธุรกิจคือระบบการศึกษา เป็นตัวกลางที่นำไปสู่การจัดการระบบทุน

 

         ฉะนั้นการศึกษาจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของธุรกิจ การศึกษาสอนเรื่องค่านิยม เพราะธุรกิจต้องสร้างค่านิยม ถ้าไม่สร้างค่านิยมคนจะไม่กระตือรือร้นที่จะบริโภค ถ้าคนไม่บริโภคทุนก็ไม่หมุนเวียน มันก็ต่อเนื่องจากรากฐานเรา คนอย่างผมก็กลายเป็นแรงงานและต้องบริโภคเพื่อทำให้ทุนหมุนเวียน เราไปเล่นตัวเลขเราสู้เขาไม่ได้อยู่แล้ว เราอยู่กับพื้นฐานแต่ไม่ได้พัฒนาพื้นฐาน กลับไปทำตัวยอดซึ่งมีความสามารถไม่เท่าฝรั่ง ระบบทุนเป็นระบบที่ฝรั่งคิดขึ้นมาเพื่อต้องการแก้ปัญหาสังคมเรื่องทรัพยากร ผมเห็นด้วยเพราะเรามีปัญหาทรัพยากรแล้ว

         แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งสอนคนให้รู้จักพื้นฐานและจัดการเป็น ไม่อย่างนั้นเราจะตกอยู่พื้นฐานของค่านิยม เครื่องมือสำคัยของทุนเพื่อสร้างอำนาจต่อรองและได้เปรียบกับสังคมคืออุตสาหกรรมเป็นโรงงานประกอบรถยนต์เพื่อต้องทำให้ภาพมันใหญ่ พอเข้าสู่อุตสาหกรรมกลายเป็นเรื่องของการลงทุนหมดเลย ชาวนาก็เลยกลายเป็นแรงงาน ปลูกข้าวก็ต้องขายให้โรงสี แล้วไปซื้อข้าวสารกิน แต่ความเป็นจริง ภาคอุตสาหกรรมมันไม่ใช่เครื่องมือของระบบทุนอุตสาหกรรมเป็นเครื่องมือของคน เป็นเครื่องมือของ การดำรงชีวิตเพราะอุตสาหกรรมโดยความหมายของพระธรรมปิฎก ท่านบอกอุตสาหกรรมคือ อุตสาหะ+กรรม ก็คือความขยันหมั่นเพียร ถ้าชาวนาขยันหมั่นเพียรรู้จักการแปรรูปข้าว เราก็ขายข้าวได้แพงกว่า แต่บังเอิญว่าเครื่องมือนี้ถูกชูในเรื่องโรงงาน การลงทุน ทำให้ชาวนาไม่สามารถพัฒนาต่อเนื่องจากฐานตัวเอง ทำให้คนต้องมาเป็นแรงงานเพื่อให้ระบบทุนพัฒนาได้

 

         กระบวนการตรงนี้รัฐบาลไม่เคยบอกว่าถ้าเราจำเป็นต้องปลูกถั่วเหลือง กระบวนการจัดการถั่วเหลืองไม่ได้จบอยู่แค่ขายให้โรงงานอาหารสัตว์ แต่น่าจะอยู่ที่กระบวนการไปถึงขั้นอะไรได้บ้างอย่างทำเต้าเจี้ยวได้ไหม ทำไมไม่ให้ชาวบ้านผลิตเต้าเจี้ยวแทนที่จะขายถั่วเหลือง ตอนนี้คนเริ่มกินธัญญพืชมากขึ้นก็ทำแป้งถั่วเหลืองได้อันนี้รัฐบาลไม่เคยสอนแต่กลับเห็นเป็นอุตสาหกรรม ชวนเขามาลงทุนให้เงินกู้แล้วก็ใช้หนี้แทนกันอีก ถามว่าการพัฒนาถูกไหม ผมกำลังสงสัยว่ามันถูกไหม

         การพัฒนาคืออะไรในความหมายผม ก็คือการวางการศึกษาให้สังคม การเรียนรู้กับการศึกษาคนละเรื่องกัน ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เท่าที่ผ่านมาพอพูดถึงการศึกษามีตั้ง 14 กรม แตะละกรมงบประมาณเท่าไหร่ เรามีครูตั้งกี่แสนคนทั่วประเทศ มีโรงเรียนเป็นหมื่นแห่ง เมื่อพูดถึงการศึกษาเราจะหมายถึงเด็กที่จบออกมา ขนาดครูยังเอาตัวไม่รอดเลย ฉะนั้นถ้าการศึกษาทำได้แค่นี้เราสูญเสียงบประมาณปีละเท่าไหร่ กระทรวงศึกษานี่เป็นแสนล้านต่อปี ถ้าเดินมาถูกทางจะมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือ

ผู้ใหญ่วิบูลย์  เข็มเฉลิม

เกษตรกรหมู่บ้านห้วยหิน ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งวุฒิสภา

***จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับครบรอบ 2 ปี วันที่ 21 ตุลาคม 2541