การศึกษาที่เหมาะสม : การจัดการความรู้เพื่อสร้างปัญญา

         ขอให้กำลังใจทีมงานจัดงานในวันนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเด็กๆ อย่างมาก

         เราจะเห็นว่าเมื่อเราสำเร็จการศึกษาตั้งแต่ชั้น ป.6 ม.3 ม.6 จนถึงปริญญาตรี เป็นช่วงที่หักเห ช่วงเปลี่ยนแปลงชีวิต ฉะนั้นการจบ ม.3 ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง ทำไมบอกว่าครั้งใหญ่ ทางหนึ่งเราอาจจะไปประกอบอาชีพ บางคนอาจจะไปช่วยพ่อแม่ บางคนก็สนใจอาชีพบางอาชีพที่ไปประกอบอาชีพ อีกทางหนึ่งบางคนก็ไปศึกษาต่อทางสายอาชีพ หรือบางคนสนใจที่จะไปต่อปริญญาตรีก็จะไปต่อ ม.4-5-6 ซึ่งมีหลายเส้นทาง ไม่ได้มีเส้นทางเดียว ถ้าเราดูทั้งโลกก็จะพบว่าคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ที่วันนี้โด่งดังที่สุดในโลก มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งในโลก ก็ไม่ได้เรียนจบปริญญาตรี คือ นายบิล เกตส์ เจ้าของไมโครซอฟต์ ที่เราใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในประเทศไทยเครือสหพัฒน์ คนที่ดูแลสหพัฒน์ ในวันนี้ก็จบแค่มัธยมปลายไม่ได้จบปริญญาตรี เจ้าของขนมปังฟาร์มเฮาส์ขายของปีละ 2,000 กว่าล้านบาท คนที่บริหารก็ไม่ได้จบสูง

         มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐต่างจากสัตว์ทั่วไปเพราะมนุษย์เกิดมาแล้วพึ่งตนเองไม่ได้ แต่สัตว์ทั้งหลายอยู่ด้วยสัญชาตญาณของมัน เมื่อมนุษย์พึ่งตนเองไม่ได้ก็ต้องการเรียนรู้ การเรียนรู้ไม่ได้เฉพาะแค่ต้องมีครูมายืนสอนอยู่อย่างนี้ การเรียนรู้ต้องเกิดขึ้นทุกนาที ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี มนุษย์คนไหน ก็แล้วแต่ ที่เรียนรู้ตนเอง และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มนุษย์คนนั่นก็จะประสบความสำเร็จในชีวิต อันนี้เป็นประเด็นสำคัญ ไม่ได้หมายความว่าต้องมีครูมาสอน เพราะการเรียนรู้นั่น เรียนรู้ได้หลายอย่าง และการเรียนรู้ที่แท้จริง ควรเรียนรู้จากการปฏิบัติ ชีวิตจะดีได้มีทางเดินหลายทาง

         แต่ว่าปัญหาของเราเป็นอย่างนี้ เมื่อปี 2543 มีการสำรวจก็พบว่า คนไทยเป็นหนี้สินอยู่ครอบครัวละ 68,000 บาท ปี 2544 รัฐบาลใจดีมากให้กองทุนหมู่บ้านๆ ละล้าน ปีนี้ 2548 คนไทยทั้งประเทศ มีหนี้สินครอบครัวละ 180,000 กว่าบาท เป็นหนี้เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว เพราะฉะนั้นเห็นได้ว่าเงินไม่ได้เป็นคำตอบให้ชีวิตของเราดีขึ้น สติปัญญาต่างหาก บิล เกตส์ ที่รวยอันดับหนึ่งของโลกก็ไม่เรียนจบมหาวิทยาลัยลัย เรียนปีเดียวก็ลาออกตั้งบริษัท

         ปัญหาของสังคมไทยวันนี้ สังคมไทยส่วนใหญ่เกิดมาแน่นอนพึ่งตนเองไม่ได้ พ่อแม่เลี้ยงดูมา เรามีโอกาสได้รับการศึกษา วันนี้เรากำลังจะจบ ม.3 เราจะเติบโตไปข้างหน้า แล้วพอเราแก่ก็พึ่งตนเองไม่ได้ แล้วเราก็ตาย คนเรามีแค่นี้ไม่มีมากกว่านี้ เพราะฉะนั้นคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศไทยวันนี้ เกิดมาพึ่งตนเองไม่ได้ พ่อแม่เลี้ยงดูให้เติบโต ได้รับการศึกษามากบ้างน้อยบ้าง ก็ยังพึ่งตนเองไม่ได้ เป็นหนี้ เป็นสิน แล้วก็แก่ แล้วก็ตาย อันนี้ส่วนใหญ่

         มีคนไทยอีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่มากนัก เกิดมาพึ่งตนเองไม่ได้ พ่อแม่ก็ช่วยเลี้ยงดูให้เติบโตให้การศึกษา หาการหางานทำ แต่เพียงพึ่งตนเองได้เท่านั้น แล้วก็แก่ แล้วก็ตาย มีคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีน้อยมาก ประเทศไทยจึงไม่แข็งแรง เกิดมาพึ่งตนเองไม่ได้ ได้รับการศึกษา หาการหางานทำ เป็นคนที่พึ่งตนเองได้แล้วยังเป็นที่พึ่งคนอื่นได้บ้าง แล้วพอแก่ก็พึ่งตนเองไม่ได้อีก แล้วก็ตาย อยากจะเป็นกลุ่มไหน คิดว่าทุกคนอยากจะเป็นกลุ่มสุดท้ายพึ่งตนเองได้ แล้วก็เป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้บ้าง

         ชีวิตเราเราต้องตั้งเป้าไว้ เราเห็นในทีวีพอจบข่าว ทีวีช่องต่างๆ ไปถ่ายคนแก่ๆ บอกมีลูกตั้งห้าคน บางคนสิบคน ตอนนี้ไม่รู้ลูกหายไปไหน ตัวเองแก่พิการ ต้องให้คนข้างๆ บ้านมาดูแล เราไม่อยากเป็นอย่างนั่น เป้าหมายในชีวิตขั้นต่ำสุดให้น้องๆ คิดอยู่ตลอดว่า เราเติบโตขึ้นแล้ว เป็นคนที่พึ่งตนเองได้ เมื่อพึ่งตนเองได้ก็ไม่เป็นภาระต่อสังคม ถามว่าคนพึ่งตนเองได้คือคนอย่างไร

         คนพึ่งตนเองได้คือคนที่สามารถจะแก้ปัญหา ชีวิตเราเราจะเจอปัญหาอีกเยอะ ตอนที่พ่อแม่เลี้ยงเราอยู่ เราจะเจอปัญหาน้อย พอโตขึ้นเราก็จะเจอปัญหาเยอะ เราก็สามารถที่จะแก้ปัญหา และก็พัฒนาชีวิตของตนเองได้ เราเรียกว่าเราพึ่งตนเองได้ ถ้าเราเก่งกว่านั้นเราก็ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นด้วย ที่นี้คนที่จะพึ่งตนเองได้เราจะต้องมีความรู้พอ เราจะทำอะไรก็แล้วแต่จะประกอบอาชีพ อาชีพทุกอาชีพดีหมด ไม่ใช่อาชีพเกษตรไม่ดี ถ้าเราไปเห็นคนที่เก่งๆ เรื่องการเกษตร ชีวิตเขาก็ดีได้ จะเป็นอาชีพอะไรถ้าเราความรู้พอเราทำได้หมด

         ช่วง ม.3 เป็นช่วงที่สำคัญที่เราจะเลือกเส้นทางว่าเราจะไปสายอาชีพดี เราชอบอาชีพนี้เราจะไปอาชีพนี้ ทำงานไปด้วยมีรายได้ด้วย ไม่ต้องรบกวนทางบ้าน ด้วย หรือเราคิดว่าเราจะมุ่งไปทางปริญญา ไปเรียนปริญญาตรี ก็ต้องไป ม.4-5-6 แต่อยากจะบอกข้อมูลไว้วันนี้ คนจบปริญญาตรีมากกว่าครึ่ง ไม่มีงานทำ ช่วยตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ก็คิดผิดขายไร่ขายนา ขายที่ขายทาง อุตสาห์ส่งไปเรียนที่กรุงเทพที่โน่นที่นี้ค่าใช้จ่ายก็เยอะ

         ต้องตัดสินใจให้ดี วันนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะฉะนั้นต้องมีเป้าหมายในชีวิตไว้ว่าเราอยากจะเป็นอะไร ฝันไปให้ไกล ขณะเดียวกันก็ต้องมีความมุ่งมั่น การเรียนไม่ได้หมายความว่าต้องมีครูมาสอน ไม่ได้หมายความว่าต้องไปเรียนในห้องสี่เหลี่ยม การเรียนรู้มีหลายวิธี เราทำงานไปเราเรียน กศน. (การศึกษานอกโรงเรียน) ไปก็ได้ หรือว่าทำงานไปเราจบ ม.3 เรามีวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยเกษตร มีการเทียบโอนประสบการณ์ก็ได้ เพราะฉะนั้นการมุ่งไปสู่ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ก็ไม่ได้หมายความว่า มีเส้นทางเดียวที่จะต้องไปเรียน ม.4-5-6 ไปเรียนปริญญาตรีแล้วก็ตกงาน

         อันนี้เราต้องคิดเอง เป็นสิ่งที่เลือกได้ มีหลายเส้นทาง ที่สำคัญที่สุดคือ การมีวินัยต่อตัวเอง ชีวิตที่ดีคนอื่นสร้างให้เราไม่ได้ ชีวิตที่ดีเราเลือกมันเอง เราเลือกจะเดินไป เราต้องสร้างด้วยตัวของเราเอง คนอื่นนั้นเป็นส่วนประกอบ ครูที่พยายามสอนเราก็มีเจตนาให้เราเป็นคนดีเป็นคนเก่ง วันนี้คณะที่จัดงานนอกจากมีจิตใจอยากจะให้เราเป็นคนดี เป็นคนเก่ง พึ่งตนเองได้ ก็ต้องไปหาเงินมาจัด แต่ทั้งหลายทั้งปวงก็เชื่อว่าพวกเราได้ประโยชน์ไม่เท่ากันอยู่ที่วินัยของเรา

         ต้องคิดอยู่ตลอดว่าชีวิตเราเป็นคนเลือก ต้องตั้งเป้าหมายชีวิตให้ดี ถ้าเราเป็นคนที่มีความขยันขันแข็ง มีความอดทน มีความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ ชีวิตเราเจริญแน่นอน ชีวิตฟลุ๊คๆ ไม่มี ชีวิตต้องสร้างเอง

 

ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์

มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน

prateep.v@hotmail.com

 

**ถอดเทปจากการบรรยาย "การศึกษาที่เหมาะสม : การจัดการความรู้เพื่อสร้างปัญญา"

เวทีพี่ช่วยน้อง โครงการพี่ช่วยน้อง โรงเรียนบ้านหนองยางร่วมกับวัดหนองยาง

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2548 ณ วัดหนองยาง ต.สุขเดือนห้า อ.เนินขาม จ.ชัยนาท