ลานบุญ ลานปัญญา

ความเป็นมา

         ในอดีตที่ผ่านมาวัดถือเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญที่อยู่ควบคู่กับชุมชนหมู่บ้านมานาน ทั้งเป็นแหล่งศึกษา แหล่งเรียนรู้ สืบสาน อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมความสามัคคีของคนในชุมชนเป็นสำคัญในการก่อเกิดกรรมต่างๆ ขึ้นมา แต่ในปัจจุบันกิจกรรมบางอย่างได้เริ่มเลือนหายไปจากสังคมไทยด้วยวิถีชีวิตของคนชนบทที่เปลี่ยนไป ทำให้ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน บ้าน วัด โรงเรียนแปรเปลี่ยนไปด้วย หลายกิจกรรมที่ร่วมกันจัดมักเป็นเพียงใจแง่ศาสนพิธีไม่ได้เข้าถึงจิตวิญญาณ วิถีชีวิตที่ดีงามดังเช่นที่เคยร่วมแรงรวมใจกันมาดังในอดีตที่ผ่าน          วัดหนองยางได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมตามหลัก “บวร” บ้านวัดโรงเรียน ที่ช่วยเปิดพื้นที่ของคนทุกภาคส่วนในชุมชนทั้งเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้นำชุมชน พระสงฆ์ ภาคีในท้องถิ่น ฯลฯ ได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกันโดยอาศัยกิจกรรมที่วัดได้เริ่มจัดมาแล้วหลายปี อาทิ กิจกรรมทักษะคอมพิวเตอร์เพื่อชุมชน กิจกรรมค่ายพี่ช่วยน้องกิจกรรมบวชชีพราหมณ์ กิจกรรมปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวรอบวัด กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม ฯลฯ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการปลูกฝังค่านิยมการพฤติปฏิบัติตนโดยพึ่งตนเองให้มากที่สุด ตามหลักเศรษฐกิจพอพียง จึงได้พัฒนาโครงการลานบุญ ลานปัญญา เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนทุกภาคส่วนในชุมชนที่ดียิ่งขึ้นนั่นเอง

 

 

         ลานบุญ ลานปัญญาเป็น "เวทีเปิด" สำหรับทุกคน มีโครงสร้างเปรียบเสมือน "ไข่ดาว" คือ

         ส่วนที่ 1 คือ ไข่แดง ประกอบด้วยผู้นำชุมชนในพื้นที่เข้าร่วมเวทีเป็นประจำทำหน้าที่เป็นทั้งแกนกลางของเวที และผู้นำการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่น

         ส่วนที่ 2 คือ ไข่ขาว ประกอบด้วย "ภาคีการพัฒนา" จากภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ทั้งในและนอกพื้นที่มีความสนใจปรัชญาแนวคิดของเวที มีอุดมการณ์ร่วมกัน เข้าร่วมเวทีเป็นประจำ และต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

         ส่วนที่ 3 คือ น้ำมันทอดไข่ ประกอบด้วยผู้ที่สนใจมาศึกษาเรียนรู้จากเวทีจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทั้งในและนอกพื้นที่ มีความสนใจปรัชญาแนวคิดของเวที และเข้าร่วมเวทีเป็นครั้งคราว เพื่อนำความรู้ไปใช้พัฒนางานของตนเอง

 

 

วัตถุประสงค์

         1. ส่งเสริมการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของคนทุกภาคส่วนในชุมชนตามหลัก "บวร" บ้านวัดโรงเรียน ได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตนเอง

         2. เอื้ออำนวยให้ผู้ร่วมเรียนรู้ ทั้งแกนนำชุมชน นักเรียน ครู ชุมชน เห็นคุณค่า

มีความประทับใจ รู้จักท้องถิ่นดีขึ้น เห็นคุณค่าของคนในชุมชน

         3. ยกระดับพัฒนากิจกรรมสร้างสรรค์ระหว่างบ้าน วัด โรงเรียนไปสู่การบริหารจัดการร่วมกันของคนในชุมชนท้องถิ่น

         4.  เผยแพร่และสอดแทรกหลักธรรม คำสั่งสอนพุทธศาสนาควบคู่กับการใช้ชีวิตในประจำวัน

 

 

แนวทางดำเนินงาน          

         1.พัฒนา "เศรษฐกิจพอเพียง" ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

         2. สร้าง "กระบวนการค้นหา" ผู้นำชุมชนและภาคีการพัฒนา โดยการเปิด "พื้นที่ทางสังคม" เพื่อให้เกิด "การรวมคน ร่วมคิด ร่วมทำ" เป็น "การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม" ที่ช่วยสร้าง "คุณค่า" และ "จิตสำนึกใหม่" ให้ทุกฝ่ายร่วมกันสร้าง "สังคมที่เกื้อกูล"

         3. ประสาน “ความร่วมมือ” กับภาคีการพัฒนา เพื่อ “บูรณาการ” โครงการของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ เพื่อใช้ "ทรัพยากร" ของโครงการเหล่านั้น อย่างมีประสิทธิภาพในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างบูรณาการ

         4. ส่งเสริม "กระบวนการเรียนรู้" ของผู้นำชุมชนกับภาคีการพัฒนาในทุกระดับทั้งใน "แนวตั้ง" และ "แนวนอน" และให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้จาก "การปฏิบัติ" มากกว่าการเรียนรู้จาก "การเล่าเรียน" หรือ "การฝึกอบรม"

         5. ขยาย "กระบวนการกลุ่มและเครือข่าย" โดยให้ "ผู้นำในชุมชนท้องถิ่น" เป็น "แกนหลัก" เพื่อสร้าง "เครือข่ายการเรียนรู้" นำชุมชนไปสู่ "สังคมการเรียนรู้" ทำให้ "ชุมชนเข็มแข็ง"  สามารถ "พึ่งตนเอง" ได้มากขึ้น ทั้งยังทำให้เกิด "สำนึกท้องถิ่น" และลดปัญหาความขัดแย้งในชุมชนได้เป็นอย่างดี

         6. สรุป "องค์ความรู้" และ "ประสบการณ์” จากการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และเผยแพร่ไปสู่สังคมในวงกว้าง